ปวดเข่า ฉีดยาเข้าข้อ อันตรายหรือปลอดภัย?

คุยเรื่อง ปวดเข่า ฉีดยาเข้าข้อ อันตรายหรือปลอดภัย?
คุยกับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐพล ธรรมโชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“โอยปวดเข่า” โรคสุดฮิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เมื่อความเสื่อมของร่างกายมาเยือน แทบจะหลีกเลี่ยงข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่าหรือเจ็บเข่า ไม่ได้เลย วันนี้หมอโดมเลยขอพาท่านผู้อ่านไปคุยกับคุณหมอณัฐพล ธรรมโชติ กันค่ะ
คุณหมอคะ การปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม สาเหตุเกิดจากอะไร เกิดกับทุกคนหรือไม่
ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า สาเหตุเกิดจากอายุ ที่มากขึ้น น้ำหนักตัวมาก เคยใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก เช่น วิ่งมาก ทำงานยกของหนัก เป็นต้น เคยได้รับ อุบัติเหตุ บริเวณข้อเข่า หรือเข่าติดเชื้อมาก่อน ดังนั้นโดยทั่วไป เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ก็มีโอกาสเป็นโรค ข้อเข่าเสื่อม เหมือนรถยนต์ที่ใช้มานาน ยางก็สึกหรอ ใช้มากก็สึกเร็วครับ ดังนั้นข้อเข่าเสื่อมเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงดังข้างต้นครับ
แล้วมีวิธีรักษาหรือไม่คะ
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคครับ ในกรณีที่เป็นน้อยๆ เราก็รักษาโดยการปรับเปลี่ยน กิจวัตรประจำวัน ได้แก่ การลดน้ำหนัก การบริหารข้อเข่า หลีกเลี่ยงท่านั่งยอง หรือนั่งกับพื้นเป็นเวลานาน พับเพียบ หรือขัดสมาธิก็ไม่เหมาะทั้งนั้น และอาจต้องกินยาบรรเทาปวดเป็นครั้งคราว ถ้ายังปวดเดินไม่สะดวกควรรักษาโดยการฉีดยาเข้าข้อเข่า ถ้ายังไม่ดีขึ้น รบกวนกิจวัตรประจำวัน ยังคงปวดเข่ามากคงต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดครับ
แล้วเรื่องฉีดยาเข้าข้อนี่อันตรายมั้ยคะ ยาที่ใช้ฉีดเข้าข้อเป็นสเตียรอยด์รึเปล่า ฉีดได้บ่อยแค่ไหนคะ
ยาที่ฉีดเข้าข้อเข่า ปัจจุบันมี 2 ชนิดครับ ชนิดแรกเป็นยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ได้ยินชื่อนี้ แล้วคุณผู้อ่านไม่ต้องตกใจนะครับ ว่ามันจะเป็นอันตราย เพราะสเตียรอยด์ที่หมอฉีดให้ เป็นการให้ยาเข้าไปในข้อเข่าเท่านั้น มันจะไม่ออกฤทธิ์และมีผลเสียต่อร่างกายส่วนอื่น ส่วนการจะฉีดได้บ่อยมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการของโรคครับ ยาที่ใช้ฉีดเข้าข้อยังมีอีกชนิดหนึ่งเป็นน้ำเลี้ยงไขข้อเรียกว่า ไฮยาลูโรนิก แอซิด ครับ ยาทั้งสองตัวสามารถลดอาการปวดเข่าได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่า เสื่อมรุนแรงน้อยถึงปานกลาง โดยสามารถอยู่ได้ถึง 6 เดือนเลยทีเดียวครับ แต่ถ้าข้อเข่าเสื่อมมากหรือเข่าคดงอผิดรูป ยาก็จะได้ผลไม่นาน
ตัวอย่างยาไฮยาลูโรนิก แอซิด ที่ฉีดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
คุณหมอช่วยให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว การออกกำลังกาย การบริหารกล้ามเนื้อหรือข้อด้วยค่ะ
ควรใช้งานข้อเข่าอย่างระมัดระวัง อย่างอเข่ามาก อย่านั่งพับเข่านานๆ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ ถ้าผู้สูงอายุท่านใดไปวัดก็ควรนั่งเก้าอี้ แทนการนั่งกับพื้น สำหรับการออกกำลังกายควรเป็นกีฬาเบาๆ ที่น้ำหนักไม่ลงตรงเข่ามาก เช่น การว่ายน้ำ ถ้าใครว่ายไม่เป็นก็ไปเดินในน้ำก็ได้ครับ การรำไทเก๊ก ถีบจักรยานอยู่กับที่ ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อที่ดีครับ
เห็นมีหลายคนต้องเปลี่ยนข้อ คุณหมอแนะนำให้เปลี่ยนเป็นข้อเทียมเมื่อไหร่คะ
เมื่อผู้ป่วยต้องการครับ ผู้ป่วยอยู่กับเข่าของท่านมากกว่าแพทย์ ดังนั้นถ้าอาการเจ็บปวดของเข่า ส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่เป็นปกติของท่าน จนคิดว่าต้องแก้ไขก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการผ่าตัด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ปวดจนทนไม่ไหวแล้ว ทำอะไรก็ไม่สะดวก ไม่อยากจะไปไหน ซึ่งหมออยากจะบอกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ปัจจุบันในสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญ การผ่าตัดเข่า มีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก ระหว่างผ่าตัด เราก็สามารถควบคุมความเจ็บปวดได้ดี วันรุ่งขึ้นก็สามารถเดิน ได้ทันที นอนโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันเองครับ การผ่าตัดจะทำให้ท่านสามารถเดินได้ และเป็นอิสระจาก ความเจ็บปวดอีกครั้ง
ขาโก่ง ขาฉิ่ง
ภาพแสดงก่อนและหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีความผิดรูปของเข่า
มีทางที่เราจะป้องกันข้อเข่าเสื่อมได้มั้ยคะ
หมอมีคาถาง่ายๆ ในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม คือ “ลด ละ เลิก เพิ่มความแข็งแรง”
ลด คือ การลดน้ำหนัก อย่าปล่อยให้อ้วน อย่ากินอะไรตามใจ ซึ่งทำได้ยากและต้องมีวินัย ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ละ คือ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพราะจะทำให้เข่าและหลังเสื่อมได้
เลิก คือ งดการนั่งยอง (ควรเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ) งดการขึ้นลงบันไดชัน กระโดดสก๊อตจัมพ์
เพิ่มความแข็งแรง คือ หมั่นออกกำลังกาย กายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง
หากคุณผู้อ่านทำได้อย่างนี้ข้อเข่าเสื่อมก็ไม่มาหาง่ายๆ ครับ
หมอโดมว่าถ้าท่องคาถาอย่างเดียว คงไม่รอดนะคะ หมอโดมขอไปทำตามคาถาก่อน ว่าแต่ใครแถวนี้ช่วยฉุดหมอโดมลุกขึ้นหน่อยค่ะ เพราะนั่งกับพื้นคุยกับคุณหมอณัฐพลนานไปหน่อย เข่าเสื่อมลุกไม่ขึ้นค่ะ
——————————————————————————————————————————–
อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง Intra-articular Corticosteroid Injection Compared with Single-Shot Hyaluronic Acid for Treatment of Osteoarthritis Knee: A Prospective, Double-blind Randomized Controlled Trial โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐพล ธรรมโชติ